
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ ห้องประชุมเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ศาลากลางจังหวัดน่าน นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังมลพิษจังหวัดน่าน สืบเนื่องจากจังหวัดน่านได้รับหนังสือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีกล่าวอ้างว่าโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสา ที่ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนและทรัพยากร ธรรมชาติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษและการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอทุ่งช้าง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ได้รับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสารพิษตกค้างในสภาพแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะตามมาในอนาคต เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาและสถาน การณ์ที่เกิดขึ้น จังหวัดน่านจึงได้จัดทำแผนดำเนินงานเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของจังหวัดน่านกรณีมลพิษข้ามแดน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดน่านโดยเฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติและอำเภอทุ่งช้าง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน และผลกระทบการปนเปื้อนและสิ่งในสิ่งแวดล้อมในจังหวัดน่าน. ล่าสุดได้เชิญทีมวิจัย จากสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม ซึ่งวิจัยการสาธิตการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการภาคประชาชนเพื่อจัดการความเสี่ยงของประชาชนกลุ่มเปราะบางจังหวัดน่านจากการตกสะสมของก๊าซกรดและปรอทข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศในฝุ่น PM 2.5 และหาปริมาณตัวบ่งชี้ต่อการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทีมวิจัยพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการเสี่ยงทางสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัยในพื้นที่เสี่ยงปนเปื้อนสารปรอทและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในการวิจัยการศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษข้ามแดน รวมทั้งผู้แทนจากบริษัทไฟฟ้าหงสา มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้จากการศึกษาระยะที่ 1 จากการเก็บตัวอย่างดินน้ำอากาศ โดยให้ความสำคัญกับแก๊สกรด PM 2.5 และ สารปรอทที่ปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ โดยให้ชุมชนรู้จักเฝ้าระวังตนเองและร่วมเก็บตัวอย่าง พบว่าสารพิษที่เกิดในดิน น้ำ อากาศ ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติและอำเภอทุ่งช้าง ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นนัยยะสำคัญ. อย่างไรก็ตาม มีข้อบ่งชี้ว่ามีสารปรอทจากปลาในธรรมชาติ แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับหญิงมีครรภ์จากการเก็บตัวอย่างจากเส้นผม แต่ไม่เป็นผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงควรมีการเฝ้าระวังร่วมกัน และขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยในระยะที่ 2 จะสิ้นสุดประมาณเดือน กันยายน 2567
ขณะที่นายยุทธนา ฬจุลพันธ์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด กล่าวว่า ขอให้ กำหนดวันทำเวอร์คชอป และเชิญคณะวิจัยมาร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทไฟฟ้าหงสาก็เก็บข้อมูลมานับ 10 ปี และไม่มีความผิดปกติของสสร.ที่เป็นอันตราย
ต่อร่างกายมนุษย์แต่อย่างใด โดยการเก็บข้อมูลต่างๆได้มีการประสานไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเก็บข้อมูลร่วมกัน ใช้มาตรฐานเดียวกัน เป็นฐานข้อมูลที่ยอมรับกันได้ ทั้งนี้ขอให้เปลี่ยนชื่อโครงการ ซึ่งชื่อโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่ทางการลาวและประชาชนก็มีความกังวลเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากข่าวมีความละเอียดอ่อน สร้างความวิตกกังวลต่อประชาชน ดังนั้นการลงพื้นที่ของทีมศึกษาวิจัยทุกครั้งขอให้แจ้งให้จังหวัดทราบ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมดำเนินการตรวจสอบร่วมกัน โดยก่อนประชาสัมพันธ์ขอให้ส่งชุดข้อมูลให้จังหวัดรับทราบ เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลเดียวกัน หากพบว่ามีปัญหาให้แจ้งกับทางจังหวัดเพื่อจะได้ร่วมแก้ไข และจัดทีมลงทำงานแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยจังหวัดน่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรายงานให้ประชาชนทราบทุกระยะ
@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น โทร.0848084888
Discussion about this post