
20 ก.ค.2567 – ที่ วัดป่าบ้านพันลำ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งชาวไทย และชาว สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองบึงกาฬ เข้าวัดทำบุญตักบาตรอาหาร ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียน แด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร โดยมีพระอาจารย์สมบัติ สมฺปตฺติธารโก เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านพันลำ เป็นประธานสงฆ์ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก และเป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดยพระโกณฑัญญะเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนจะพร้อมใจกันทำสมาธิถือศีล 5 ลดละอบายมุข วิสาขะ พุทธบูชา และฟังธรรมเทศนา เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ตลอดจนเพื่อจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรมอย่างยั่งยืน เกิดความสงบร่มเย็นทั้งต่อตนเองและต่อสังคม
“วันนี้เป็นวันพระใหญ่คือวันที่ 15 ค่ำ เดือน 8 และเป็นวันหยุด หลายครอบครัวพาลูกหลาน ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตร ถือเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะใช้วัฒนธรรม วันสำคัญทางพุทธศาสนา ชวนครอบครัวไปทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสืบสานประเพณีอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี อันดีงาม ของชาวพุทธ รวมถึงส่งเสริมปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ลูกหลานเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม โดยตลอดทั้งวันตามวัดสำคัญต่างๆ ของ จ.บึงกาฬ จะได้ ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา และมีพิธีเวียนเทียนร่วมกันในช่วงค่ำ”
สำหรับวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ล้วนมีอยู่ในพระสูตรนี้วันอาสาฬหบูชา หลักธรรมสำคัญ
สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
- มัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้
บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลง
เพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค
การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน
คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรง
สมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนิน
ชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัค
ค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ - สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
- สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
- สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
- สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
- สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
- สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟังซ่าม
ปฐมเทศนา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา หลักธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 ประการ ได้แก่
1.ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่ไม่เป็นสุข
2.สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์
3.นิโรธ คือ การดับทุกข์
4.มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์
หลักธรรมของอริยสัจจ์ 4 ประการนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิตและหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแสดงถึง “ทางสายกลาง” ที่เป็นหนทางดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
ความหมายของ “วันอาสาฬหบูชา”
คำว่า “อาสาฬหบูชา” มาจากภาษาบาลี ประกอบด้วยคำว่า “อาสาฬห” แปลว่า เดือน 8 และคำว่า “บูชา” แปลว่า การบูชา ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ 0961464326
Discussion about this post