ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME: Small and Medium Enterprises) การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) มาใช้ในองค์กรกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT Knowledge Exchange for Innovation Center: KX) กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเอสเอ็มอีไทยกับการใช้เอไอไว้ว่า “เอไอคือผู้ช่วยชั้นดีของเอสเอ็มอีไทย ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าตอนนี้เอสเอ็มอีไทยไม่เริ่มเรียนรู้หรือนำเอไอมาใช้ จะแข่งขันในตลาดปัจจุบันยาก หรืออาจจะแข่งขันไม่ได้เลยในอนาคต”
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KX) จึงร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) จัด “โครงการ Smart Connect Business Initiative” (โครงการเชื่อมโยงธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ) สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในยุคดิจิทัลผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา แนะนำ และติดตามการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการมอบเครื่องมือดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายและราคาประหยัดให้แก่เอสเอ็มอี อาทิ เครื่องมือเอไอสำหรับการประกอบธุรกิจ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร (ERP: Enterprise Resource Planning) ขนาดเล็กที่ช่วยจัดการด้านการเงิน บัญชี และลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงการให้คำปรึกษาและอบรมด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
นายวรรณภพ กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของโครงการคือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเปิดโอกาสให้เข้าถึงตลาดใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศ” หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ KX ได้พัฒนาและนำมาใช้ในโครงการคือ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) ร่วมกับ Dynamics Motion Co., Ltd. ซึ่งเป็นพันธมิตรในการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้วยค่าใช้จ่ายที่เข้าถึงได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการองค์กร และสามารถจัดเก็บ จัดการข้อมูลสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการนำ AI มาช่วยในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน เช่น การใช้ AI ในการตรวจสอบความถูกต้องของใบเสร็จ และการใช้ AI ในการออกแบบเอกสาร ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำงาน รวมถึงการสร้างความเข้าใจศักยภาพและการใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในตลาด
“การใช้เอไอและระบบ ERP มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะสามารถช่วยบริหารจัดการระบบบัญชี การเงิน การจัดการคลังสินค้า ออกบิล เก็บฐานข้อมูลลูกค้าได้ จากเดิมที่ต้องใช้คนหลายคนในการดูแลงาน แต่ระบบนี้สามารถใช้คนเพียงคนเดียวในการดูแล ช่วยลดต้นทุนทั้งเรื่องการเงินและเวลาของธุรกิจลง เมื่อใช้เงินน้อยลง แต่ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คืออีกหนึ่งแต้มต่อในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย นอกจากนี้ยังมีการนำระบบเครือข่าย Internet of Things (IoT) มาใช้เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้” นายวรรณภพ กล่าวถึงเครื่องมือที่เข้ามาหนุนเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย
ด้าน ดร.สุขยืน เทพทอง วิทยากรในหัวข้อ “AI FOR ENTREPRENEUR” กล่าวเสริมว่า การนำเอไอมาใช้จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก เอไอจะเข้ามามีบทบาทและช่วยเสริมการทำงานของหลายฝ่ายในองค์กร โดยเฉพาะงานหลายอย่างที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลานาน โดยเอไอจะเป็นเครื่องมือที่สามารถจัดการได้อย่างถูกต้องและเร็วกว่ามนุษย์หลายเท่า เช่น การวางแผนธุรกิจ ที่สามารถกำหนดเป้าหมายการเติบโต พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้เราทราบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ เหมือนเอไอเป็นการติดอาวุธให้ธุรกิจขนาดเล็กให้เข้มแข็ง และมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การขยายธุรกิจไปในตลาดที่ใหญ่ขึ้นต่อไป” สำหรับเป้าหมายระยะยาวของโครงการเชื่อมโยงธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะฯ คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการนวัตกรรมในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นายวรรณภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความหวังของเราคือ อยากเห็นผู้ประกอบการไทย สร้างนวัตกรรมได้ และส่งออกนวัตกรรม แทนการซื้อมาขาย หรือรับจ้างผลิตที่ได้รับผลตอบแทนไม่มากอย่างในปัจจุบัน เพราะเราเชื่อมั่นว่าการลงทุนในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว”
หากผู้ประกอบการท่านใดมีความสนใจที่จะพัฒนาสินค้าและบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือต้องการแชร์ไอเดียธุรกิจเพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม สามารถติดต่อ สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT Knowledge Exchange for Innovation Center: KX) โทรศัพท์ 0 2470 7998
Discussion about this post