ที่ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่ให้กำลังใจจิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์ พร้อมทั้งเทขี้ผึ้งบรรจุยาและติดฉลากลงบนตลับ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงชนัตถา พลอยเลื่อมแสง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจิตอาสา กำลังช่วยกันเร่งบรรจุยาและติดฉลากตลับขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า จำนวน 10,000 ตลับ เพื่อเตรียมนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และสุโขทัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ผู้ประสบภัยต้องเผชิญกับความเสียหายทั้งจากบ้านเรือน สิ่งของ และที่สำคัญคือปัญหาสุขภาพที่ตามมาอย่างโรคน้ำกัดเท้า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากน้ำขังซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหาเหล่านี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยคณะเภสัชศาสตร์ ได้ริเริ่มโครงการผลิตขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า จำนวนกว่า 10,000 ตลับ เพื่อส่งมอบไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือที่ได้ร้องขอมา และทางมหาวิทยาลัยยังพร้อมที่จะผลิตเพิ่มหากมีความต้องการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งนี้
อาจารย์ ภก.กรีพล แม่นวิวัฒนกุล อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้าที่เราผลิตขึ้นนี้ มีส่วนผสมหลักที่เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการรักษาเชื้อราและลดอาการคัน ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นจากการแช่อยู่ในน้ำท่วมเป็นเวลานาน สารเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากโรคน้ำกัดเท้า และลดการติดเชื้อราในผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องของการผลิต ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้านี้จะถูกผลิตในจำนวนทั้งสิ้น 10,000 ตลับ โดยแต่ละล็อตของการผลิตจะผลิตได้ประมาณ 1,500 ตลับ และจะทยอยผลิตจนกว่าจะครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ โดยเรามีแผนที่จะส่งครีมไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคเหนือ เช่น จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดแพร่จำนวน 3,000 ตลับ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอาจารย์ของเรามีภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ ยังมีการเก็บสำรองครีมไว้ด้วย เผื่อว่าพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคามจะเกิดน้ำท่วมในอนาคต”
นางสาวณัฐชานันท์ เอกวงษา นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะเภสัชศาสตร์ ได้แชร์ประสบการณ์และความรู้สึกของตนในการเป็นจิตอาสาช่วยงานว่า ด้วยความที่เราเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ เราเห็นว่าความรู้ที่เราเรียนมาสามารถเป็นประโยชน์ได้ และเราก็มีจิตอาสาที่อยากช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ นิสิตยังกล่าวถึงบรรยากาศการทำงานว่า “การทำงานมีความสุขและสนุกมาก ได้มาช่วยกันร่วมกับอาจารย์และพี่ๆ เพื่อนๆ ในคณะ ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก ทุกคนที่ว่างจากงานหรือการเรียนก็มาช่วยกันทำ ซึ่งตรงกับสโลแกนของคณะเภสัชศาสตร์ ที่ว่า “เภสัช มมส หัวใจรับใช้ชุมชน” และกล่าวส่งกำลังใจไปยังผู้ประสบภัยในภาคเหนือว่า ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยในภาคเหนือค่ะ เรื่องดี ๆ จะเข้ามาและสถานการณ์จะค่อยๆ คลี่คลายไป”
ทีมข่สว//มหาสารคาม
Discussion about this post