
วันที่ 6 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำสูงขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกลงมาทั่วทุกพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ทำให้เขื่อนเจ้าพระยามีจำเป็นต้องปรับการระบายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นขั้นบันได เพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้โดยเร็วที่สุดและได้มีการทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. 67 ด้วย
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,383 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.32 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องรายชั่วโมง มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.97 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 15-30 เซนติเมตร ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ 1.37 เมตร/รทก. เท่านั้น และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 2,150 ลบ.ม./วินาที การระบายดังกล่าว ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น 10-30 ซม. ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้1. คลองโผงเผง จ.อ่างทอง 2. คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 3.ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) 4. วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี 5. วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
จากมวลน้ำทางภาคเหนือที่เพิ่มสูงขึ้นรายชั่วโมง ส่งผลให้ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คันดินกั้นน้ำ บริเวณ ม.4 ต.ธรรมามูล มีน้ำเอ่อไหลทะลักคันดินเริ่มเข้าบ้านเรือนประชาชนแล้วกว่า 20 หลังคาเรือน แต่ระดับน้ำไม่สูงมากนัก สูงประมาณ 30-100 ซม.แล้วแต่พื้นที่ ทางชาวบ้านเร่งขนเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทำมาหากินขึ้นชั้น2เพื่อความปลิดภัยลดความเสียหาย ด้านเทศบาลตำบลธรรมามูล ได้สั่งการให้ทางกองช่าง นำรถแบ็คโฮ ขุดลอกเพื่อนำดินมาถมตรงคันดินเพิ่มในส่วนที่สามารถซ่อมแซมและยังสามารถกั้นน้ำได้ พร้อมเตรียมช่วยเหลือประชาชนหากเกิดน้ำท่วม
ซึ่งไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่ขนของหนีน้ำท่วม และได้รับผลกระทบ ไส้เดือนเองก็ลำบากเช่นกัน เนื่องจากน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจนไม่มีที่อยู่ ไส้เดือนเป็นร้อยๆตัวต้องหนีตายมาอยู่ที่ลานใต้ถุนบ้าน
นายอ่อน ธรรมา อายุ 78 ปี เผยว่า รอบนี้น้ำมาเร็ว แต่ไม่แรง เพราะคันดินแถบบ้านตนนั้นต่ำ ส่วนบ้านคันดินสูงยังไม่เอ่อเข้าท่วม ซึ่งพอเขื่อนต้องระบายเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ครั้งไหน ก็ท่วมชุมชนหมู่ 4 ต.ธรรมามูล อยู่แล้ว เพราะน้ำเหนือมาเยอะทุกครั้ง ทางนี้ต้องรับน้ำก่อนส่งต่อไปเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนไส้เดือนก็เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ไม่ได้ไล่ไม่ได้ฆ่าเพราะมันไม่มีพิษภัยอะไร อยู่ร่วมกันไปตามธรรมชาติ

ในขณะที่ฝนตกหนักสะสมหลายวันทำให้เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากโดยไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณ หมู่ที่ 5 บ้านดอนใหญ่ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมงชัยนาท บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงกว่า 10 หลัง ส่วนพื้นที่นาข้าว นาหญ้าอาหารสัตว์ รวมกว่า 200 ไร่ เสียหายอย่างหนัก สัตว์เลี้ยง อาทิ วัว ควาย ได้รับผลกระทบ 60 ตัว โดยมีนายทัศ เพ็งพัด กำนันตำบลหนองมะโมง และนางพรทิพย์ นิลฉ่ำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เข้าให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของออกจากบ้านเนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางพรทิพย์ นิลฉ่ำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเปิดเผยว่า พื้นที่นี้น้ำเคยท่วมแต่ไม่เคยท่วมสูงขนาดนี้ นาข้าวเสียหายประมาณ 200 ไร่ อายุข้าวที่ปลูกประมาณ 1-2 เดือน น้ำไหลมาจากบ้านหนองดู่ บ้านหนองยาง และบ้านวังน้ำขาว อำเภอหนองมะโมง ซึ่งมีเขตติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อุทัยธานี รวมทั้งชัยนาท ทำให้มีน้ำไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งมีบ้านของนายจรัล นิลฉ่ำ ถูกน้ำท่วมสูงต้องช่วยกันนำรถไถลุยน้ำเข้าไปขนย้ายข้าวปลูก และปุ๋ย ออกไปไว้พื้นที่พ้นน้ำท่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อพยพวัว 18 ตัวออกไปแล้ว
นางสมศรี พันธุ์เปี่ยม อายุ 56 ปี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ทุกปีน้ำท่วมไม่มาก ครั้งนี้น้ำมาเยอะระดับน้ำลึกประมาณ 50-120 เซนติเมตร ต้องอพยพควาย 40 ตัวไปอยู่ที่พ้นน้ำท่วม นาข้าว และหญ้าอาหารสัตว์ เสียหายรวมกว่า 30 ไร่ ซึ่งลงทุนไปแล้วกว่า 5 หมื่นบาท เดิมหวังว่าถ้าได้เก็บเกี่ยวข้าวครั้งนี้จะได้เงินกว่า 1 แสนบาท แต่ก็หมดหวังกว่าน้ำจะลดข้าวคงเน่าเสียหมดแล้ว
Discussion about this post