วันที่ 18 พ.ย.64 กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) และจุดตัดถนนเทศบาล (แยกตาปาน) ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยการประชุมดังกล่าวจัดประชุมขึ้น ณ โรงแรมบรรจงบุรี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ได้รับเกียรติจากนายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ
โดยปัจจุบันสภาพการจราจรในเขตเมืองสุราษฎร์ธานี มีปริมาณหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งปัญหาการจราจรในเขตอำเภอเมืองนั้น ที่พบส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุดในชั่วโมงเร่งด่วน คือ จุดตัดของถนนที่สำคัญโดยรอบเขตเมือง โดยบางแยกของกรมทางหลวง ได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกแล้ว แต่บางทางแยกยังเป็นระบบสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ แยกตาปาน แยกท่ากูบ ซึ่งประสบปัญหาจราจรติดขัดสะสมอย่างมากในชั่วโมงเร่งด่วน มีท้ายแถวบริเวณทางแยกค่อนข้างยาว และก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัย ตลอดจนเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางของผู้ใช้เส้นทาง จึงกำหนดให้มีโครงการสำรวจและออกแบบเพื่อเตรียมการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) และจุดตัดถนนเทศบาล (แยกตาปาน) เพื่อจัดทำแบบรายละเอียดและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องตัน (IEE) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน
ทั้งนี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ โดยการประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3) ในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโครงการ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการ ในทุกประเด็น ทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านการจราจรและขนส่ง และด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด
Discussion about this post