วันที่ 18 พ.ย.64 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิจารณ์ จุนทวจิตร นายอำเภอพนม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กรมการข้าว โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านทุ่งตาหนอน หมู่ที่ ๑๓ ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวหอมไชยา แปลงแรก ที่“ยามออกรวงหอมทั่วทุ่ง ยามหุงหอมทั่วบ้าน” โดยมี นายวีระพันธ์ เพชรอาวุธ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
สำหรับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้เป็นศูนย์พันธุกรรมพืช และส่งเสริมให้มีการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดดำริฯ (อพ.สธ.) บ้านทุ่งตาหนอน อ.พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่เศษ แบ่งเป็นแปลงสาธิตด้านต่างๆ จำนวน 19 แปลง กับอีก1 แหล่งพันธุ์สัตว์น้ำและแปลงนาสาธิตที่มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนานาชนิด
ทั้งนี้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีความสำคัญต่อเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นที่ใช้เพื่อการบริโภคและมีการพัฒนาคัดเลือกพันธุ์มายาวนาน ซึ่งพันธุ์ที่ทางราชการแนะนำปลูกในภาคใต้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองปลูกอยู่หลากหลายพันธุ์ โดยมีการปลูกสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้กินไว้ใช้ ไม่ได้มีการคัดเลือกแยกพันธุ์ ทำให้ปัจจุบันพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สำคัญหลายพันธุ์ได้เสื่อมสภาพและสูญหายไป โดยมีสาเหตุเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่นา ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและ เกษตรกรบางส่วนใช้พันธุ์ข้าวอื่นๆมาปลูกทดแทน หากไม่มีการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ในอนาคตอาจจะไม่มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหลืออยู่ ซึ่งการรักษาพันธุกรรมข้าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมพันธุ์และสูญหายเพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการผลักดันพันธุ์ข้ามหอมไชยาเพื่อให้เป็นข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัดอีกด้วย
ด้าน นายวีระพันธ์ เพชรอาวุธ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี เผยว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ – จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมการผลิตข้าวหอมไชยา ที่ กำลังจะสูญหายไป ให้เป็นที่รู้จัก และส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรชาวนา โดยความพิเศษของข้าวหอมไชยาคือ มีความหอม และเนื้อสัมผัสไม่นุ่มจนเกินไปและไม่แข็งจนเกินไป และจะให้ผลผลิตแค่ปีละครั้งเท่านั้น
ดังนั้นศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าวสุราษฎร์ธานีจึงได้ดำเนินกิจกรรมตั้งกลุ่มอนุรักษ์ข้าวหอมไชยา กิจกรรมการคัดเลือกเพื่อหาสายพันธุ์ข้าวหอมไชยาแท้ ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จัดทำแปลงเรียนรู้ข้าวในศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี และในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา เพื่อเป็นการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชน ทั่วไปรู้จัก อาชีพทำนา รู้จักข้าวหอมไชยา มากขึ้น เป็นการอนุรักษ์อาชีพการทำนาและข้าวหอมไชยาให้คงอยู่สืบไป
Discussion about this post