วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ประกอบด้วยนายสุชาติ เศรษฐมาลินี และนางปรีดา คงแป้น ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและรับฟังข้อเท็จจริงโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) ของกรมชลประทาน โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบให้ข้อมูล พร้อมด้วยตัวแทนกรมชลประทาน ตัวแทนสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช. ) และนักวิชาการผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน คณะกสม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปที่บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผันน้ำยวม ที่จะมีการสร้างเขื่อนและปากอุโมงค์ผันน้ำโดยช่วงเช้ามีการจัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงที่บริเวณลานจุดชมทิวทัศน์แม่น้ำสองสี ซึ่งมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วมให้ข้อมูล
นายสิงห์คาร เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หมู่บ้านแม่เงาตั้งขึ้นปี 2495 หรือประมาณ 70 ปี ชาวบ้านเคยต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแม่ลามาหลวงเมื่อปี 2536 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้องการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปให้คนกรุงเทพฯใช้ จนโครงการนี้เงียบไป ปัจจุบันมีโครงการผันน้ำยวมที่จะสร้างเขื่อน ขุดเจาะอุโมงค์สูบน้ำไปให้คนกรุงเทพฯ ขึ้นมาอีก โครงการต่างๆ ของรัฐถูกคิดขึ้นมาโดยไม่เคยถามความเห็นชาวบ้าน กว่าชาวบ้านจะรู้เรื่องก็เมื่อจะมีการดำเนินโครงการและเข้ามาสำรวจแล้ว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งจะนำเสนอข้อดีด้านเดียว ไม่มีการนำข้อเสียมาให้ชาวบ้านได้พิจารณาตัดสินใจ และในอีไอเอของโครงการผันน้ำยวมยังบิดเบือนความเห็นของชาวบ้าน
“ชาวบ้านยกมือไม่เอาโครงการ แต่เอาไปใส่ในรายงานว่าเห็นด้วย ชาวบ้านไม่มีความรู้ว่าจะไปร้องเรียนที่ไหน ครั้งเมื่อกรมชลประทาน กับ ม.นเรศวร ลงพื้นที่ ผมเป็นคนขับเรือพาไปดูพื้นที่ แต่ไปแค่ครึ่งทางก็สั่งให้เรือกลับ ป่าไม่เคยย่ำ นั่งเรือยังกลัวเสื้อเปื้อน แบบนี้จะได้ข้อมูลครบเพื่อไปศึกษาได้อย่างไร” นางสิงห์คาร กล่าว
นายสิงห์คาร กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐถอดบทเรียนจากการสร้างเขื่อนภูมิพลที่สร้างมากว่า 50 ปี แต่ยังขาดแคลนน้ำ ควรแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าการหาน้ำจากลุ่มน้ำอื่นไปเติมให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะหากสร้างเขื่อนกั้นน้ำยวม ผืนป่าที่ถูกทำลายจะฟื้นกลับมาไม่ได้ ผลกระทบต่อกุ้งหอยปูปลาของสายน้ำยวม จะเอาพันธุ์ปลาที่อื่นมาปล่อยนับล้านๆ ตัวก็ไม่ถูกต้อง
นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำคือ การพรากพ่อพรากแม่ของแม่น้ำ ทำลายขวัญของสายน้ำ เป็นการกระทำอัปมงคลต่อธรรมชาติ เพราะปลาจากสาละวินจะเข้ามาหากินวางไข่ไม่ได้ ที่ผ่านมาชุมชนช่วนกันปกป้องอนุรักษ์พันธุ์ปลา จัดทำเขตห้ามจับสัตว์น้ำหลายจุด เพื่อหวังให้ปลาสามารถขยายพันธุ์ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลายของเรา จึงไม่ควรมีโครงการทำลายธรรมชาติอย่างการสร้างเขื่อนเพื่อสูบน้ำ
นายสะท้าน ชีววิชัยพงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงาและสาละวินกล่าวว่า โครงการผันน้ำยวมจะต้องมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้วจึงสูบน้ำไปตามอุโมงค์ ซึ่งชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านตลอดเส้นทางที่อุโมงค์ผ่าน จะได้รับผลกระทบอย่างไร จึงอยากให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด ส่วนผลการศึกษาอีไอเอที่ออกมายังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่ครบถ้วน อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในอีไอเอระบุว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการ แต่ข้อเท็จจริงชาวบ้านไม่เห็นด้วย รวมทั้งกรณีการบิดเบือนว่าการพบปะชาวบ้าน 1-2 คน ที่ร้านลาบเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น จึงอยากฝากให้ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
น.ส.มึดา นาวานารถ ชาวบ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งนั้น ชาวบ้านไม่เคยรับรู้กำหนดล่วงหน้า และไม่ได้รับข้อมูลล่วงหน้า ซึ่งชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปากเกอญอ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษากลาง ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าในการทำความเข้าใจกับข้อมูลก่อนเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็น ขณะที่ในเวทีไม่ได้จัดล่ามที่สื่อสารภาษาถิ่นตรงกับชาวบ้าน และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอย่างเพียงพอ หรือเป็นฝ่ายโครงการเป็นผู้พูดข้อดีฝ่ายเดียวและเลี่ยงพูดถึงผลกระทบ นอกจากนี้ยังจัดเวทีในช่วงฤดูฝนและมีสถานการณ์โควิด ที่ชาวบ้านมีความลำบากและความเสี่ยงในการเดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็น
“ชาวบ้านพยายามร้องทุกข์ ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน กับ สผ. ว่าในเวทีต่างๆ ชาวบ้านไม่เห็นด้วย แต่ความเห็นของชาวบ้านกลับไม่มีการบันทึกในอีไอเอ ยกตัวอย่างการพบปะกินข้าวในร้านลาบก็ถูกนำไปใช้ในอีไอเอ พอจะไปขอรายงานก็ต้องจ่ายเงินกว่า 2 หมื่นบาท ชาวบ้านต้องไปเรี่ยไรเงินเพื่อให้ได้อีไอเอมาอ่านตรวจสอบข้อมูล แต่ยังกลับถูกปกปิดข้อมูลด้วยการถมดำทับข้อมูลในรายงาน” น.ส.มึดา กล่าว
น.ส.มึดา กล่าวว่า ชาวบ้านมีข้อเสนอ 4 ข้อ ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องคือ 1.รัฐจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ใช่นำทรัพยากรน้ำผันข้ามไปให้อีกลุ่มน้ำ 2.รัฐต้องจัดทำอีไอเอที่มีคุณภาพ ไม่ใช่อีไอเอร้านลาบ 3.รัฐต้องปฏิบัติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ในการเคารพสิทธิชุมชน 4.รัฐต้องดำเนินโครงการอย่างจริงใจและตรงไปตรงมากับชาวบ้าน
นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม.ให้ความสำคัญกับคำร้องของชาวบ้าน จึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ โดยการตรวจสอบจะพบว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้นคงต้องรอให้ผลการตรวจสอบเสร็จสิ้นก่อน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่ามีช่องว่างของข้อมูลระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง โดยเฉพาะเรื่องรายงานอีไอเอที่ยังมีข้อมูลขัดแย้งกัน คงต้องเรียกหน่วนงานที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อมูล ซึ่งอาจต้องใช่เวลาในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่เพื่อให้ทันกับการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการทำหนังสือนำแจ้งต่อ ครม.ให้รับทราบว่า กสม.กำลังทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และจะมีการรายงานผลการตรวจสอบต่อไป
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นบริบทของของพื้นที่ชัดเจนขึ้น ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านโดยตรงย่อมดีกว่าการอ่านเอกสารเพียงด้านเดียว โดยในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อ กสม.ในประเด็นต่างๆ โดยขอยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา
นายมหิทธิ์ วงศ์สา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับฟังชาวบ้านว่ามีผลกระทบอย่างไร มีข้อกังวลด้านใดบ้าง บางประเด็นที่ชาวบ้านไม่เข้าใจก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องอีไอเอที่ชาวบ้านมองว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาอีไอเอมีหลายขั้นตอนกลั่นกรอง คณะกรรมการพิจารณาล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิน่าเชื่อถือ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการบิดเบือนข้อมูล นอกจากนี้ข้อกังวลว่าจะมีการเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำในภาคกลาง ชี้แจงว่าน้ำต้องสูบลงเขื่อนภูมิพล การปล่อยน้ำจะเข้าสู่ระบบปกติ ไม่มีการเก็บค่าน้ำแต่อย่างใด
ด้านตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และมหาวิทยาลัยนเรศวรปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยชี้แจงว่า การมาในวันนี้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มารับฟังข้อมูลจากชาวบ้านเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้ระหว่างการให้ข้อมูล ชาวบ้านได้ถามกับตัวแทนกรมชลทานถึงระดับน้ำที่จะเอ่อเข้าท่วมหมู่บ้าน นายมหิทธิ์ ชี้แจงว่า ระดับน้ำกักเก็บสูงสุดจะไม่ท่วมถึงตัวบ้านแน่นอน โดยน้ำจะท่วมเข้ามาถึงตามร่องน้ำเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจและบอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาปีที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะ มีหลายครั้งที่แม่น้ำเพิ่มระดับมาถึงฐานของเสาบ้าน แล้วถ้ามีเขื่อนน้ำอาจจะเพิ่มสูงจนท่วมหมู่บ้านอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ชาวบ้านยังตั้งคำถามถึงการชดเชยกรณีต้องอพยพโยกย้ายว่า รัฐจะมีเกณฑ์การจ่ายอย่างไร โดยตัวแทนกรมชลประทานชี้แจงว่า ในรายงานอีไอเอมีการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบ และการจ่ายค่าชดเชยจะเป็นไปตามเกณท์ที่กฏหมายระบุไว้ ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ โดยชาวบ้านอธิบายว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ บางคนยังไม่มีบัตรประชาชน ที่ดินที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ค่าชดเชยคงได้ไม่คุ้มและไม่พอไปหาซื้อที่ดินผืนใหม่ แล้วจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ไหน
จากนั้นคณะ กสม.และผู้แทนหน่วยงานได้เดินทางต่อไปในหมู่บ้านแม่เงา ซึ่งเป็นที่จุดก่อสร้างปากอุโมงค์ผันน้ำ และจุดทิ้งกองดินที่เกิดจากการขุดอุโมงค์ ซึ่งชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะกองดินที่จะทับพื้นที่ชุมชนหลายสิบไร่ รวมถึงการสร้างโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน
ส่วนในวันที่ 19 พฤศจิกายน คณะ กสม.และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปที่เทศบาลตำบลบ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.อมก๋อย ที่อยู่ในเส้นทางผ่านของอุโมงค์ผันน้ำ
นายพิบูลย์ ธุวมณทล เครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอมก๋อย กล่าวว่า ชาวบ้านแทบไม่รู้ข้อมูลโครงการผันน้ำ และไม่รู้ว่ารายงานอีไอเอคืออะไร แล้วจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง จุดพิกัดกองดินที่เกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์จะไปกองทับที่ดินทำกินของใครบ้าง ทำไมกรมชลประทานไม่ชี้แจงให้ชัดเจน
นายสวัสดิผล วงศ์เกษตรกร ชาวบ้าน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเห็นเจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่ 1 ครั้ง ให้ชาวบ้านพาไปดูที่นา พูดถึงข้อดีของโครงการแต่ไม่พูดถึงผลกระทบว่าที่นาจะโดนกองดินทับ ตนนี้เป็นห่วงแต่ลูกหลานที่อนาคตจะอยู่กันอย่างไร ไม่อยากให้สร้าง
นายไพรัตน์ กษีร ชาวบ้าน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อยากให้มีการชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจนถึงผลกระทบโดยเฉพาะกองดินว่าจะอยุ่ในจุดใดบ้าง ผลประโยชน์หรือผลกระทบด้านใดบ้างที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการจัดประชุมรับฟังความเห็น แต่ตนอาศัยอยู่ในหมุ่บ้านกลับไม่รู้เรื่องว่ามีการจัดประชุมขึ้นที่ไหน
นายทวี ม่อนจองสกุล ชาวบ้าน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า คนเฒ่าคนแก่บอกว่าป่าไม่มีเจ้าป่าเจ้าปกปักษ์รักษา ไม่ควรไปทำการลบหลู่ การเจาะภูเขาเอาดินขึ้นมากองไว้ เมื่อฝนตกจะทำให้เป็นโคลนไหลลงสู่แหล่งน้ำที่คนพื้นที่ลุ่มใช้ดื่มกิน ผลกระทบจะเกิดขึ้นขนาดไหน ชาวบ้านผู้ใช้น้ำรับรู้ผลกระทบเหล่านี้หรือไม่
ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีข้อคิดเห็นกังวลถึงผลกระทบที่อาจต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กระทบต่อวิถีชุมชนชาติพันธุ์ รวมถึงการชดเชยที่ไม่เหมาะสมและอาจไม่ได้รับการชดเชย เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์
Discussion about this post