ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ด้วยความศรัทธายังไม่เคยหยุดยั้ง จึงทำให้เธอผู้นี้ได้ก้าวสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จต่าง ๆ มากมาย และถึงแม้เธอจะมองการณ์ไกลแต่ยังให้ความสำคัญกับก้าวสั้น ๆ จึงไม่แปลกเลยที่จุดหมายซึ่งอยู่ไกล ๆ หลายจุดหมายจะมาถึงเธออยู่เรื่อย ๆอย่างสม่ำเสมอ
วันนี้ 19 พฤศจิกายน 2564 ครบรอบวันเกิด 58 ปี ของ “รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดีหญิงที่ทั้งเก่งและแกร่งแห่ง “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” สอดคล้องกับลักษณะที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
“รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” คือ แม่ทัพใหญ่ผู้กุมบังเหียนนำนาวา “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ฝ่าอุปสรรคและมรสุมต่าง ๆ มากมาย มาตั้งแต่ครั้นอย่างเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” เมื่อปี 2545 และเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ปี 2552 เรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งการตัดสินใจเลือกเดินบนทางสายการศึกษานั้น เนื่องจาก รศ.ดร.บังอร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและสืบสานการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สมบูรณ์แบบภายใต้ปณิธานที่จะให้สถาบันการศึกษาเป็นที่รวมองค์ความรู้วิชาการแขนงต่างๆ อันล้ำเลิศ ทันสมัยและบุคลากรที่มีความสามารถเชี่ยวชาญด้านการศึกษา โดยจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้บุคคลได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถควบคู่กับการมีคุณธรรม จรรยาบรรณในวิชาเรียน และดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติตามปรัชญาแห่งสถาบันที่ว่า “สร้างปัญญา พัฒนาคน ฝึกฝนคุณธรรม”
ผลงานของ “รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” ไม่เพียงแค่เป็นที่ประจักษ์แค่ภายในองค์กร หากแต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติอีกด้วย อย่างเช่น ด้านการกีฬา การจับมือกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเปิด “ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมีสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติและสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ร่วมให้ส่งเสริมและสนับสนุนด้วย นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษากับนักกีฬา โดยเฉพาะในระดับทีมชาติ อาทิ น้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตัน และ น้องเทนนิส-เรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด้ เหรียญทองโอลิมปิก 2020 นอกจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรียังผงาดขึ้นแท่นเป็น “เจ้าเหรียญทอง” กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยถึง 3 สมัยติดต่อกัน ครั้งที่ 45-47 อีกทั้งยังเปิดหลักสูตร “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา” เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ตลอดจนเพื่อพัฒนาด้านวิชาการ บริการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการกีฬา การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และให้บริการวิชาการแก่สังคมอีกทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม
สำหรับทางด้านวิชาการนั้น นอกจากจะเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์แล้ว ล่าสุดเพิ่งผ่านการรับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จากแพทยสภา เปิดหลักสูตร “คณะแพทยศาสตร์” ภายใต้ปรัชญาของหลักสูตร “คุณธรรมนำความรู้ คู่ความสามารถ ฉลาดพัฒนาตน และชุมชน” โดยได้เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกเป็นเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการบริหารมหาวิทยาลัยฯภายใต้วิสัยทัศน์ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า บัณฑิตนักปฏิบัติที่มีศักยภาพ พร้อมพัฒนาไปสู่มืออาชีพ โดยมีความรู้ประสบการณ์ความสามารถควบคู่คุณธรรมและจิตสำนึกที่ดีงามตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาอันเป็นที่ต้องการของประเทศ การวิจัยและงานสร้างสรรค์ ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในแต่ละสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการเรียนการสอนที่มีทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนอย่างทั่วถึง ในด้านที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อมและเชี่ยวชาญเพื่อให้สังคม และชุมชนพึ่งตนเอง บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟู พัฒนา สืบสาน อนุรักษ์ และดำรงซึ่งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตไทยทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ที่สอดคล้องกับบริบทโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการบริหารวิชาการ กิจการนักศึกษา บริหารบุคลากร บริหารทรัพยากร งบประมาณ บริหารโลจิสติกต์ บริหารวิสาหกิจ และการบริหารทั่วไป
และที่สำคัญท่านได้เน้นย้ำในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ว่า “ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ต่อวิชาชีพ
ถึงวันนี้ “รศ.ดร.บังอร” หรือ “คุณแม่อธิการบดี” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยังคงเดินหน้าทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อวางรากฐานด้านการศึกษาในทุกมิติ โดยเฉพาะที่อยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 นับเป็นการทำงานที่ท้าทายมาก
ทั้งนี้เพื่อให้ “กรุงเทพธนบุรี” เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทย ทั้งบู๊เรื่องการกีฬา และบุ๋นเรื่องวิชาการควบคู่กันไป รวมถึงเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ในทุกสาขาโดยไม่แบ่งเชื้อชาติศาสนา อีกด้วย.
Discussion about this post