วันที่ 29 พ.ย.64 ณ หอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกอบจ.นครสวรรค์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 4/2564 โดยมี นายมานพ บุญผสม นายเชิดพันธุ์ มาศรี นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายกอบจ.นครสวรรค์ นายไกรสิน ศิลปาจารย์ ปลัด อบจ. ตัวแทนสมาชิกสภาอบจ. และผู้แทนภาคราชการในจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งผู้แทนประชาคมจังหวัด จำนวน 6 คน เข้าร่วมประชุม
ระเบียบวาระการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย
วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบคือ เรื่อง อบจ. นครสวรรค์ จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566 – 2570) วาระที่ 2 เรื่อง รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2564 ผู้เข้าประชุมรับรอง วาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา มี ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๑ พิจารณาร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐) ของอบจ.นครสวรรค์ เรื่องที่ ๒ การเปลี่ยน แปลงแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. ๒๕๖๑ -๒๕๖๕) เปลี่ยนแปลง ครั้งที่ ๗/๒๕๖๔ ของอบจ.นครสวรรค์
วาระที่ 4 เรื่อง อื่นๆ
ในการนี้ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ ได้กล่าวว่า “การจัดทำโครงการของอบจ.นครสวรรค์ ที่ผ่านมายังไม่คุ้นชิน จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ซึ่งทุกกอง ทุกฝ่าย ต้องระดมความคิดช่วยกัน โดยประกอบด้วย 1. ด้านการศึกษา อบจ.มีกองการศึกษาฯ จึงควรเพิ่มโอกาสให้เด็กสามารถดำรงชีวิตได้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง เพิ่มการเรียนรู้ เพื่อได้มีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น 2.ด้านสุขภาวะ สุขภาพกายและสุขภาพใจ อบจ.มีกองสาธารณสุข ที่จะสามารถดำเนินงานและให้คำแนะนำได้มากขึ้น และขณะนี้ยังเตรียมการรับ รพ.สต.เพื่อโอนย้ายมายังอบจ. จำนวน 99 แห่ง ซึ่งรพ.สต.ในนครสวรรค์มีจำนวนทั้งสิ้น 190 แห่ง 3.ด้านคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ กองที่สนับสนุนชาวบ้านเพื่อสร้างอาชีพ เรื่อง ดิน น้ำ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คือกองช่าง ซึ่งจะต้องเขียนแผนสำหรับการสำรวจออกแบบ
4.ด้านคุณภาพชีวิต จารีตและประเพณี ประกอบด้วยกองสวัสดิการสังคม และกองการศึกษาฯ ร่วมมือกันทำให้กลไกการทำงานสามารถขับเคลื่อนไปได้ ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ ป่า อากาศ ต่างๆเหล่านี้จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในอีก 5-10 ปีแน่นอน “
“อีกปัญหาที่พบเจอคือ คนชนบทยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มทางราชการด้านเทคโนโลยีต่างๆ ได้ หากสามารถแก้ไขให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ก็จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น โดยฝากให้คณะอาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ช่วยกันระดมความคิดให้สามารถผลิตแผนงานออกมาตามที่กำหนดแนวทางไว้ และเพื่อให้การระดมความคิดมีประสิทธิภาพ ควรปรับแผนงานให้ครอบคลุมถึงความต้องการประชาชน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ กล่าวในที่สุด.
Discussion about this post