เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าตน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต.ฮอด และ ต.นาคอเรือ อ.ฮฮด รวม 10 คน พร้อมทั้งเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้ส่งหนังสือ เรื่องขอให้ชะลอการพิจารณารายงาน EIA โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ยวม) ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้ กสม. ได้ลงพื้นที่และประชุมรับฟังข้อเท็จจริง กรณีคำร้องเรื่องกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล แนวผันน้ำยวม ซึ่งดำเนินการโดยชลประทาน และจัดทำรายงาน EIA โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น
นายวันไชย กล่าวว่าหนังสือระบุอีกว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน (จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่) ได้ยื่นเรื่องให้ กสม. เสนอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการพิจารณารายงาน EIA ดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลสำคัญดังนี้ 1. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนและความเห็นต่างๆ ของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณาในรายงาน EIA ดังกล่าว 2. ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูล และผลดีหรือผลเสียของโครงการ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เราพบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จำกัดเฉพาะบางกลุ่ม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับถูกกีดกันอยู่วงนอก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วม
ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าวว่า 3. ประชาชนใน ต.นาคอเรือ ต.ฮฮด และ ต.หางดง อ.ฮอด ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพล จวบจนปัจจุบันผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี แต่การชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ หากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน 4. ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทั้งสะกอ และโผล่ง มีวิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ มีความเชื่อที่สืบทอดกันมาเรื่องการผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาด ที่บรรพบุรุษสั่งสอนกันมา เพราะอาจทำให้เกิดอาเภท แผนการผันน้ำจากลุ่มสาละวิน สู่ลุ่มเจ้าพระยา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยเด็ดขาด
- ประชาชนในพื้นที่โครงการ ใน จ.ตาก จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน ต่างได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้แก่ส่วนรวม พวกเรามีวิถีชุมชนที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ การที่มีโครงการขนาดใหญ่ สร้างเขื่อน สร้างสถานีสูบน้ำ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและผืนป่ากว่า 63 กิโลเมตร และก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์และการเกษตร และจะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง” นายวันไชย กล่าว
นายวันชัยกล่าวว่า เมื่อได้เห็นรายงาน EIA ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่ามีการนำรูปของตนไปใช้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยในรูปมีเจ้าหน้าที่มาขอพบเพื่อมอบหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ แต่ปรากฎในรายงาน EIA ระบุว่าเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก
“เขาทำแบบนี้ได้อย่างไร อีไอเอผ่านโดยชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้เห็นเอกสารเลย ผ่านการพิจารณา ทั้งๆ ที่รูปและข้อมูลผิดพลาดไม่ตรงกับความจริง ผมกังวลใจมาก เรากำลังขอรายงาน EIA ดังกล่าวจากกรมชลประทานเพื่อให้แก่ชาวบ้านทุกพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบได้ศึกษา”ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด กล่าว
///////////////////////////
Discussion about this post