เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 พ.ต.อ.วัฒนา เพ็งแก้ว ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และ นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง นำทีมนักเรียนนายสิบตำรวจและผู้อบรมวิชาชีพ เข้าร่วมชมการสาธิต นวัตกรรมเครื่องมือทุ่นแรงสำหรับเคลื่อนย้ายเรือท้องแบนและเรือยางซึ่งมีน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม โดยการใช้คนแค่ 2 คนในการเคลื่อนย้าย จากการประยุกต์นำเอารอกสลิงไฟฟ้ามาใช้ ควบคุมการทำงานผ่านรีโมทคอนโทรลและใช้พลังงานของแบตเตอรี่รถยนต์ และสามารถใช้รถกระบะในการขนย้ายได้ เป็นนวัตกรรมเครื่องมือที่จะช่วยในการทุ่นแรงการเคลื่อนย้ายเรือท้องแบนโลหะรวมถึงเรือยาง เพื่อให้เกิดความสะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น และลดกำลังพลในการเคลื่อนย้าย จากเดิมที่ต้องใช้กำลังพล 8-9 คน ในการเคลื่อนย้าย เนื่องจากเรือเป็นโลหะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงทำให้ทุกครั้งที่ขนย้ายเรือ จะต้องใช้กำลังพลหลายคนเพื่อเคลื่อนย้ายเรือขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อ และจะต้องนำเรือขึ้นในแนวตะแคง จึงควบคุมได้ยากและมักจะเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้เคลื่อนย้ายได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง บางคนถึงขั้นนิ้วแตก นอกจากตอนขนเรือขึ้นรถไปลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านแล้ว ตอนขนเรือกลับก็ต้องช่วยกันยกขึ้นรถเหมือนเดิม ทำให้กำลังพลที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านจากอุทกภัยที่เกิดความเหนื่อยล้าสะสมและอาจได้รับบาดเจ็บ เสี่ยงให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้น จึงเกิดไอเดียเครื่องทุ่นแรง นำวิชาความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำรอกสลิงไฟฟ้ามาช่วยดึงเรือขึ้นรถลากและบังคับผ่านรีโมทคอนโทรล โดยใช้คนในการเคลื่อนย้ายแค่ 1-2 คน
โดย ด.ต. มนูญ เพ็ชรรัตน์ ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพลขับรถบรรทุก 6 ล้ออยู่ที่กองกำการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ปรึกษาหารือกับทาง พ.ต.อ. วัฒนา เพ็งแก้ว เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางพ.ต.อ.วัฒนา เห็นด้วยที่จะผลิตเครื่องมือมาใช้ เพื่อลดการบาดเจ็บและกำลังพลในขนเรือ และเล็งเห็นว่า จึงมอบหมาย ด.ต.มนูญ ซึ่งมีความรู้ทางด้านเครื่องยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้คิดค้นเครื่องมือประยุกต์จากองค์ความรู้เดิม โดยการนำรอกสลิงไฟฟ้ามาใช้ในการเคลื่อนย้ายเรือขึ้นรถลาก เพื่อให้สามารถใช้รถยนต์กระบะในการลากเคลื่อนย้ายได้ โดยไม่ต้องยกขึ้นลงจากรถบรรทุกแบบที่เคยทำ ลดเวลาและกำลังพลได้จำนวนมาก และไม่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลัง ซึ่งการประดิษฐ์เครื่องมือ ด.ต.มนูญ ได้คิดค้นและประดิษฐ์จนแล้วเสร็จโดยใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายและไม่ซับซ้อนมากแต่ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆได้นำประยุกต์ใช้ได้ง่ายและสามารถผลิตได้เอง
อย่างไรก็ตาม การสาธิตในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นักเรียนนายสิบตำรวจรวมถึงผู้เข้าอบรมอาชีพ ได้นำไปประยุกต์ใช้ในระหว่างที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว เพราะปัญหาอุทกภัย เป็นปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การมีเครื่องช่วยทุ่นแรง ลดกำลังพลและเวลา ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและไม่บั่นทอนพละกำลัง ช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ช่วยชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที
Discussion about this post