วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ภายหลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านริมคลองภาษีเจริญ ใกล้เคียงวัดหนองพะอง หมู่ที่ 7 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่ม แบน จ.สมุทรสาคร ว่ามีปลาลอยตายเกลื่อนคลองภาษีเจริญหน้าวัดหนองพะอง จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพร้อมด้วย นายพลภวัฒน์ ชำนาญวาด นายกเทศมนตรีตำบลสวนหลวง ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอกระทุ่มแบน ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงพระภิกษุสงฆ์ของวัดหนองพะอง ก็ได้มาช่วยกันตักปลาที่ตายลอยเกลื่อนคลองขึ้นมา เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีและไม่ปล่อยให้ลอยเน่าเหม็นเต็มคลอง อีกทั้งยังมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำให้มาเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบอีกด้วย ซึ่งสภาพที่เห็นนั้น ก็พบว่าในบริเวณดังกล่าวระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ทั้งปลาสวายขนาดน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2 – 3 กิโลกรัม ปลาช่อน ปลาช๊อคเกอร์ และยังมีปลาเล็กปลาน้อยที่ชาวบ้านช่วยกันมาปล่อยไว้บริเวณหน้าวัด ตายลอยขึ้นมาเหนือน้ำ บางตัวเริ่มเน่าอืดและส่งกลิ่นเหม็น
ชาวบ้านบอกว่า แม้สภาพน้ำในคลองภาษีเจริญตลอดทั้งคลองจะไม่ค่อยดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นปลาตายมากมายขนาดนี้มาก่อน ยิ่งเป็นปลาตัวใหญ่ๆแล้ว ยิ่งแทบจะไม่เคยเห็น มาครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสภาพปลาตายนี้เป็นมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีแล้ว โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลักลอบปล่อยน้ำเสีย จึงต้องการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบเข้ามาเร่งตรวจสอบ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่นายพลภวัฒน์ ชำนาญวาด นายกเทศมนตรีตำบลสวนหลวง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์ปลาน๊อคน้ำนั้นเกิดขึ้นในเกือบทุกปีแต่ไม่เคยมีจำนวนมากเท่านี้มาก่อน ซึ่งในครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ประกอบกับอาจจะมีการลัก ลอบปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาห กรรมในช่วงที่ฝนตกลงมาด้วย จึงทำให้ปลาเกิดน๊อคน้ำแล้วตายลงอย่างฉับพลัน ทั้งนี้ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ตนเองก็ต้องวิงวอนขอความร่วมมือในการเลิกพฤติกรรมเห็นแก่ตัวและทำร้ายธรรมชาติเช่นนี้ หากตรวจพบว่าโรงงานหรือสถานประกอบการใดที่มีพฤติกรรมลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองภาษีเจริญ ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง และใช้มาตรการที่รุนแรงที่สุดเพื่อให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว
ทางด้านนายรวิวรรธ รัตนราช ประมงอำเภอกระทุ่มแบน ได้นำผลการตรวจน้ำในคลองที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสาคร กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง พบว่า ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าปกติเกือบครึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ส่วนวันนี้จะนำปลาที่ตายไปตรวจอีกว่าพบสารเคมีด้วยหรือไม่ เพราะฝนที่ตกลงมาอาจชะล้างสารเคมีจากพื้นที่ต่างๆลงคลองด้วย ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องออกซิเจนในน้ำต่ำ อาจต้องใช้ระบบตีน้ำเพิ่มออกซิเจนเพิ่ม ซึ่งก็จะต้องมีการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป.
Discussion about this post