วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีกระแสข่าว อธิบดีกรมการข้าวสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครง การส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ดำเนินการทั่วประ เทศ อาจส่อทุจริต หลังมีผู้ร้องเรียนว่า เบิกจ่ายเมล็ดพันธุ์เกินสิทธิที่เกษตรกรได้รับ และเกษตร กรที่มีชื่อรับเมล็ดพันธุ์กลับไม่ได้รับจริง ขณะที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ เร่งติดตามตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ
โดยข่าวระบุว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 และข้าวจ้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ จำนวนกว่า 2,800 ตัน ถูกทยอยส่งให้กับกลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 ใน จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร และ จ.มหาสารคาม ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา คาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะจัดส่งครบทั้งหมด เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำพันธุ์เพาะปลูกข้าวนาปี แต่ล่าสุด นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครง การนี้ เนื่องจากอาจส่อทุจริต
ขณะที่นายฉันทลักษณ์ ฆารไสว ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ระบุว่า กรมการข้าวได้รับเรื่องร้องเรียนว่า โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว มีการเบิกจ่ายเมล็ดพันธุ์เกินสิทธิที่เกษตรกรได้รับ โดยชาวนาที่ขอเข้าร่วมโครงการ ต้องใช้ข้อมูลพื้นที่ทำนาตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อขอรับสิทธิ์ซื้อเมล็ดพันธุ์ ในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาท จากราคาขายปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 18-25 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ข้าว เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีสิทธิ์ซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ 15 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งช่วยประหยัดค่าต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ แต่กลับพบว่ามีเกษตรกรบางคนสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์ได้เกินกว่าสิทธิ์ ขณะที่เกษตรกรบางคนอ้างว่าที่มีชื่อรับเมล็ดพันธุ์ แต่ไม่ได้รับจริง
ฉันทลักษณ์ระบุว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบผลการดำเนินการ หลังส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าว ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดา หาร และจ.มหาสารคาม แต่ยังไม่สามารถระบุว่ามีการกระทำผิดในส่วนใดบ้าง ซึ่งทางกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาร่วมตรวจสอบ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมการข้าว ที่กำหนดให้มีการสรุปผลการตรวจสอบภายใน 15 วัน หากพบผู้กระทำผิดจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เอาผิดทั้งวินัยและอาญาทันที
ด้านนายทองยอด ภูยางตูม อายุ 74 ปี ประธานกรรมการกลุ่มผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ และประธานกลุ่มเกษตรชุมชน บ้านโนนแดง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตข้าวของศูนย์ขยายพันธุ์ข้าว หรือบางคนเรียกว่า “ข้าวเกษตร” มาประมาณ 30 ปี มีพื้นที่ทำนา 18 ไร่ ซึ่งทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ฯ ให้โควต้ารับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกไร่ละ 4 กระสอบ น้ำหนักกระสอบละ 82 กก. รับซื้อในราคา กก.ละ 18-25 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ราคา ก.ก.ละ 18 บาท ตามคุณภาพข้าว โดยพื้นที่ทำนา 18 ไร่ได้ผลผลิต 72 กระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ 5.9 ตัน มีรายได้ปีละประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งยังถือว่าได้กำไรมาก กว่าชาวนารายอื่นที่ปลูกข้าวทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตนยังยืนหยัดเป็นสมาชิกของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ และมีการรวมกลุ่มกับเพื่อนชาวนาชุมชนเดียวกันที่เข้มแข็ง ต่อมาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ฯ ตั้งกลุ่มเกษตรชุมชนขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งมีสมาชิก 13 ราย พื้นที่เพาะปลูก 240 ไร่
นายทองยอด กล่าวอีกว่า ทราบว่าชาวนาที่ปลูกข้าวเกษตร หรือที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ และมีการจัดตั้งเป็น “กลุ่มเกษตรชุมชน” กระจายอยู่หลายอำเภอ ซึ่งทราบว่ากลุ่มนี้จะได้รับสิทธิพิเศษจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ ในการรับแจก “เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก” เพื่อจัดจำหน่ายให้สมาชิกและชาวนาทั่วไปนำไปขยายพันธุ์ ในราคา กก.ละ 20 บาท น้ำหนักกระสอบละ 20 กก. ตกกระสอบละ 400 บาท โดยในปีนี้กลุ่มเราเพิ่งได้รับเป็นปีแรก จำนวน 3 ตัน ซึ่งจำ หน่ายไปหมดแล้ว
“ในส่วนกรณีที่มีกระแสข่าว อธิบดีกรมการข้าวสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อาจส่อทุจริต หลังมีผู้ร้องเรียนว่า เบิกจ่ายเมล็ดพันธุ์เกินสิทธิที่เกษตร กรได้รับ และเกษตรกรที่มีชื่อรับเมล็ดพันธุ์กลับไม่ได้รับจริง ขณะที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ เร่งติดตามตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ตนไม่ทราบเรื่องด้วย แต่อาจจะมีกระแสที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่สมาชิกปลูกข้าวเกษตรไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก เนื่องจากไม่ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรชุมชน จึงไม่ได้สิทธิ์รับแจกก็อาจเป็นได้ ยืนยันกลุ่มของเราดำเนินการด้วยความโปร่งใส สมาชิกยอมรับเงื่อนไขการบริหารจัดการภายในกลุ่ม ส่วนประเด็นอื่นหรือกลุ่มอื่นจะคิดอย่างไร ตนไม่ทราบ” นายทองยอดกล่าว.
Discussion about this post