วันที่ 7 ก.ค.2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้จัดเทศกาลชาและกาแฟ Tea & Festival 2023 ณ อาคารพลเอกเภา ชูศรี มฟล.โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดและ ผศ.ดร.มัชธิมา นราดิศร อธิการบดี แม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย นำเข้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม กิจกรรมมีการจัดบรรยายพิเศษและเสวนาโดยนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับวงการชาและกาแฟของประเทศไทยเป็นเวลารวม 2 วัน การมอบรางวัลผลิตภัณฑ์กาแฟ และเครือข่ายของสถาบันชาและกาแฟ มฟล.นำนวัตกรรม การผลิต ผลผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง ขณะที่ในการบรรยายและเสวนาต่างระบุว่า จ.เชียงราย เป็นแหล่งปลูกชาและกาแฟมากที่สุดในประเทศไทยและสถาบันชาและกาแฟ มฟล.ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 ได้ศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อพัฒนาในทุกมิติมานานกว่า 20 ปี กระทั่งปีนี้พบว่าเครือข่ายที่นำผลผลิตมาจัดแสดงต่างมีความโดดเด่น เช่น บริษัท KH-Roberts (Thailand) จำกัด นำกาแฟที่แตกต่งกลิ่นแล้วบรรจุในหลอดและเมื่อนำใส่เครื่องชงแล้วจะได้น้ำกาแฟที่มีกลิ่นต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น สตอร์เบอรี่ ส้ม ฯลฯ

นอกจากนี้กลุ่มผู้มีความสามารถทางประสาทสัมผัสหรือ sensory intelligence group (SIG) ได้จัดแสดงการปรุงรสชาติชาโดยผู้พิการทางสายตา ซึ่งมีความสามารถในการรับรู้รสและกลิ่นได้ดี โดย SIG จัดตั้งขึ้นโดยศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสนับสนุนผู้พิการทางสายตาในการชงชาให้ได้รสชาติเฉพาะ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและรสชาติของชาที่ชงในแต่ละวันก็มีส่วนผสมและรสชาติแตกต่างกันโดยมีแนวคิดแตกต่างกันในแต่ละวันอีกด้วย ซึ่งผู้พิการทางสายตาแต่ละคนสามารถบอกส่วนผสมให้ผู้ช่วย และดมกลิ่นพร้อมทั้งชมรสของชาให้ได้รสชาติต่างๆ รวมทั้งอธิบายเกี่ยวกับชาได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคมฯ กล่าวว่า ศูนย์ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องชาตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาได้รับงบประมาณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อต่อยอดไปยังผู้ที่พิการทางสายตาจนก่อตั้ง SIG ขึ้น โดยผลการวิจัยพบว่าผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจะมีศักยภาพในด้านการฟัง การรับรู้กลิ่นและรส ได้ดีกว่าคนปกติทั่วไป กระทั่งได้ร่วมกับสถาบันชาและกาแฟ มฟล.จึงได้นำผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการเดินทางไปศึกษาพื้นที่ที่ จ.เชียงราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาเป็น “Sence Series” ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบรับรองบรรจุภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) อยู่ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการทางสายตาได้แสดงศักยภาพและได้มีงานทำจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือใช้เป็นอาชีพเสริมหลังจากที่เคยทำงานประจำหลากหลาย เช่น ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล อยู่บ้าน ทำงานเอกชน ฯลฯ
ผศ.ดร.ธิติมา กล่าวอีกว่า หลังดำเนินโครงการพบว่าเริ่มมีภาคเอกชนติดต่อขอรับตัวสมาชิกของ SIG บางเข้าไปทำงานแล้วเพราะถือว่าเป็นผู้มีประสาทสมผัสที่เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะนอกจากจะมีความสามารถในการรู้กลิ่นและรสดีเลิศแล้ว โดยในการทดลองชิมและดมกลิ่นร่วมกับคนทั่วไปพบว่านอกจากพวกเขาจะรู้รสและกลิ่นได้ดีกว่าแล้วยังสามารถแยกแยะประเภทของกลิ่นและรสได้อย่างเหนือชั้นอีกด้วย ส่วนในอนาคตก็มุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ SIG หลังจากที่ในปัจจุบันใช้เป็นของฝากและมีตลาดอยู่ในวงจำกัด สำหรับวัตถุดิบนั้นใช้ใบชาจากดอยแม่สลองทั้งแบบอู่หลงและชาแดง
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ วงเพ็ญ และ น.ส.อลิสา ศิวาธร ซึ่งทำการชงชารสชาติต่างๆ ทั้ง 5 วันตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระบุว่าเดิมพวกตนทำงานธุรกิจส่วนตัวและรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วม SIG เพื่อให้มีเวทีแสดงศักยภาพของตัวเอง ปัจจุบันมีคนในกลุ่มจำนวน 21 คนแล้ว และพวกเราได้ออกแบบตัวอย่างชา 5 วัน ซึ่งมีส่วนผสม รสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันในแต่ละวัน เช่น วันจันทร์จะเริ่มต้นด้วยความหวานของลำไย พุทธาจีนและวานิลลาทำให้สดชื่นและสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนวันอังคารผสมผสานระหว่างตะวันออกคือเครื่องเทศไทย ชะเอมเทศ ชาเขียว กระวาน และตะวันตกคือเลมอน เบอรี่ ช่วยแก้ไอ แก้ลม คุมน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มอัตราเผาผลาญ ฯลฯ ปัจจุบันรสชาติของชาที่พวกเราออกแบบมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ Sence Series อยู่แล้ว.
Discussion about this post