
วันที่ 14 ก.ค.2566 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ได้ผลักดันเด็กนักเรียน ต่างด้าวในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง จำนวน 126 คน ให้กลับประเทศเมียนมา เพราะไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ เหตุเกิดต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดหลังจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) เดินทางมาประชุมหารือเรื่องแนวทางในการส่งกลับเด็กและเยาวชนทั้งหมด ที่ จ.เชียงราย ไปเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดส่งทั้งหมดกลับสู่ประเทศเมียนมาจนครบหมดทั้ง 126 คนแล้ว
โดยช่วงต้นเดือนเจ้าหน้าที่ได้ส่งกลับผ่านทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จำนวน 59 ราย เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนที่ยังเหลืออีกจำนวน 67 ราย ได้กระจายให้พักตามบ้านพักเด็ก องค์กรเอกชนต่างๆ จำนวน 5 แห่ง เพื่อรอประสานกับญาติให้มารับตัวกลับ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้มีการจัดส่งเด็กทั้งหมดกลับไปยังประเทศเมียนมาแล้ว เนื่องจากมีญาติมารอตัว โดยพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นชายอายุ 4 ขวบพักอยู่กับมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งมีพี่ชายมารับเพื่อเดินทางกลับไปเมืองเชียงตุง ห่างจากชายแดนประมาณ 168 กิโลเมตร ส่วนคนอื่นๆ กระจายเดินทางกลับไปตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉานต่อไป
สำหรับการส่งตัวเด็กและเยาวชนชาวเมียนมาทั้งหมดกลับประเทศเนื่องจากต่างไม่มีเอกสารการเข้ามาศึกษาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และยังเข้ามาลึกถึง จ.อ่างทอง ทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นจะจัดส่งกลับโดยความสมัครใจและติดต่อกับญาติหรือผู้ปกครองได้ก่อน จากนั้นหากเด็กและเยาวชนต้องการเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือในฝั่งไทยก็ให้จัดทำเอกสารให้ถูกต้อง และประสานกับสถานศึกษารวมทั้งองค์กรเอกชนต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดนให้รองรับตามหลักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่พบกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาและต้องการเข้ามาเรียนในฝั่งไทยกว่า 70,000-80,000 คน
ทางด้าน น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัญหาเด็กๆ ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่อยากเข้ามาเรียนหนังสือในฝั่งไทยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีปัจจัยจากสถานการณ์ความไม่สงบทำให้พวกเขาไม่มีสถานที่เรียนหนังสือ และการเข้ามายังประเทศไทยก็ต่างมีเจตจำนงค์ชัดเจนว่าอยากเรียนหนังสือ ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับโอกาส โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนทั้งฝั่งประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและสถานประกอบการต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม หากว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้กลับมาเรียนหนังสือก็มีความเสี่ยงที่จะถูกชักนำให้เข้าสู่การทำงานอาชญากรรม เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ค้ายาเสพติด จึงคาดหวังว่าเด็กๆ จะแสวงหาสถานที่เรียนโดยในส่วนของมูลนิธิก็มีเด็กในการดูแลอยู่แล้วกว่า 80 คน หวังว่าเมื่อเด็กเหล่านี้กลับมาจะได้รับโอกาสเพื่อการเรียนต่อไป.
Discussion about this post