
ชมรม นายก อบต.แม่ฮ่องสอน เข้ายื่นหนังสือต่อ ผวจ.แม่ฮ่อง สอน เพื่อส่งต่อไปถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากต้องการให้แก้ไขปัญหาการจัดทำโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาคุณภาพชีวิตและการให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานในเขตป่าของ อบต.ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังตกค้างกว่า 6 หมื่นโครงการเนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายและระเบียบของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนได้
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. ที่บริเวณหน้าศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอุกฤษฏ์ แสงงาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู ประธานชมรมนายก อบต. จังหวัดแม่ฮ่องสอน , นายก อาวุธ ขยันดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโป่ง นายนิรันด์ จันทร์แค้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่อง
สอน นำนายก อบต. ทั้ง 42 แห่ง ในนามชมรมนายก อบต.แม่ฮ่อง สอน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอัครเดช วันไชธนวงศ์ นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน และยื่นผ่าน นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่อง สอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่อง สอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ และนายเลาฟั้ง บิณฑิตเทิดสกุล สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาการจัดทำโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาคุณภาพชีวิตและการให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานในเขตป่าของ อบต.ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ติดปัญหาป่าไม้ ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้
ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมชมรมนายก อบต.แม่ฮ่องสอนขึ้นที่ห้องประชุม อบต.ปางหมู ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหยิบยกปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือกรณี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต่างมีข้อห้ามจน อบต.ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ แม้กระทั่งการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคือร้อยละ 98 อยู่ในเขตป่าตามกฎหมาย ทำให้โครงการนับพันโครงการต้องขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจากหน่วยงานที่ดูแลตามกฎหมายนั้นก่อน จึงมีโครงการจำนวนมากตกค้างไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขั้นตอนการอนุมัติของหน่วยงานเหล่านั้นต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามแผนหรือโครงการที่วางไว้ปัจจุบันมีโครงการที่ค้างการพิจารณาของหน่วยงานกว่า 60,000 โครงการ ดังนั้นชมรมนายก อบต.แม่ฮ่องสอนจึงเห็นว่าควรเสนอให้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันการเข้าดำเนินการในพื้นที่ในเขตป่าโดยอนุโลมหรือใช้อำนาจทางบริหารสั่งการใดๆเพื่อผ่อนผัน หรือกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา
นายอุกฤษฏ์ แสงงาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานชมรมนายก อบต.จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การพัฒนาช่วยเหลือชาวบ้านไม่สามารถทำได้เพราะติดเรื่องป่า แม้จะผ่านงบประมาณท้องถิ่นแล้วก็ตาม เมื่อส่งเรื่องไปไม่ได้รับอนุญาตในการใช้พื้นที่ป่า ทำให้งบประมาณตกไป ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับการช่วยเหลือโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ทำให้นายก อบต.ทั้งหมดในแม่ฮ่องสอนจึงมาร่วมลงชื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่า ผ่าน สส. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.ประชุมช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ช่วยผ่อนปรนให้ อบต.สามารถที่จะสร้างถนนและสาธารณูประโภคได้ในเขตป่า เป็นการอนุโลมทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นงบประมาณปี 67 ที่ผ่านสภา อบต.แล้วก็ต้องตกไปไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการขอใช้พื้นที่ในทางปฏิบัติต้องผ่านจังหวัด ผ่านป่าไม้ กว่าจะถึงหน่วยเหนือไม่ทันการ ชาวบ้านไม่ได้รับการพัฒนา
ด้าน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่าร้อยละ 85 ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า ป่าบางประเภทก็สามารถอนุญาตให้เข้าไปพัฒนาได้ตามกฏหมาย แต่ป่าบางประเภทก็มีขั้นตอนของกฎหมายที่จะใช้พื้นที่ได้ การพัฒนาพื้นที่ก็อาจจะมีอุปสรรค ทางจังหวัดก็จะได้นำหนังสือที่ได้รับจากนายก อบต.ส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ตามขั้นตอนต่อไป
ส่วน นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ ฮ่องสอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในฐานะ สส.แม่ฮ่องสอน และพรรคร่วมรัฐบาล ตนก็ได้นำปัญหาการใช้พื้นที่ป่าทั้งของ อบต.และประชาชน ไปพูดคุยในสภาเพื่อที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และได้ส่งข้อมูลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐแล้ว จะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อชาวแม่ฮ่องสอนจะได้รับการพัฒนาในทุกด้าน
ขณะที่ นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้ว เรารับรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว เรื่องการขออนุญาตการใช้พื้นที่ป่า ถ้าเป็นงบประมาณของรัฐก็สามารถดำเนินการไปก่อนได้ แต่ช่วงหลัง ๆ หน่วยงานราชการก็โดนฟ้อง ทำให้ท้องถิ่น อบต.เทศบาล ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนไม่กล้าที่จะเข้าไปสร้างถนนหรือช่วยเหลือชาวบ้านได้เต็มที่เพราะติดปัญหาป่าไม้ ในฐานะตัวแทนประชาชนก็จะไปดูว่าเงื่อนไขป่าไม้จุดไหนที่จะสามารถผ่อนปรนให้กับ อบต.ในการพัฒนาพื้นที่ได้ โดย สส.แม่ฮ่อง สอน ทั้ง 3 คน 3 พรรค ก็จะร่วมมือกันในช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นายเลาฟั้ง บิณฑิตเทิดสกุล สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เ เปิดเผยว่า กระบวนการต่าง ๆ ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่ายุ่งยากมาก ทั้ง พรบ.ป่าสงวน พรบ.ป่าไม้ พรบ.อุทยาน พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฏหมายป่าไม้ การห้ามสิทธิของประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ซึ่งกำหนดว่า รัฐมีหน้าที่จัดทำสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับบริการให้แก่ประชาชน แต่กฎหมายเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่คือท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำโครงการบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ ขณะนี้พรรคก้าวไกลเรากำลังพยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ การใช้พื้นที่ป่า เพราะเราคิดว่าการที่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดทำสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ควรที่จะไปขออนุญาตป่าไม้ แค่แจ้งให้ป่าไม้ทราบว่าจะดำเนินการ เว้นแต่โครงการที่ไปเปิดป่าใหม่.
ฉลอง หมั่นสกุล จ.แม่ฮ่องสอน
Discussion about this post