
วันที่ 19 ธ.ค.66 นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษย วิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยา ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมทีมนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผายล ขึ้นสำรวจเส้นทางบนเทือกเขาภูพาน ศึกษาข้อมูลเส้นทาง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อเตรียมเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนเทือกเขาภูพาน ในเขตพื้นที่ ต.ก้านเหลือง อ.นาแก จ.นครพนม
“หลุบอีเลิด” มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางฐานบัญชาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย (พคท.) ในเขตพื้นที่ภูพาน และอีสานเหนือ ช่วงทศวรรษ 2500-2520 กิจกรรม “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด : ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเทือกเขาภูพาน” เป็นโครงการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ที่ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยา ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีนายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อผลักดันสถานที่สำคัญดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินป่าเข้าชมความงดงามของเส้นทางทางธรรมชาติ และศึกษาข้อมูลอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์ ในสมัยช่วงปี พ.ศ. 2510-2520
สมรภูมิการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐไทย มีความสืบเนื่องจากแบ่งขั้วของลัทธิทางการเมืองในระดับภูมิภาคและแพร่กระจายแทรกซึมไปทั่วโลก รวมทั้งในสังคมไทยด้วย จนยกระดับเป็นพรรคคอมมิว นิสต์แห่งสยาม และพรรคคอมมิว นิสต์แห่งประเทศตามลำดับ ตั้งแต่ทศวรรษ 2470-2490
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายในสังคมด้วย ซึ่งเกิดขึ้นจากความเห็นต่างและแตกแยกทางความคิด ความคับแค้นใจจากแรงบีบคั้นที่ประสบพบเจอในชีวิต จนทำให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงถึงขั้นลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐอย่างจริงจัง ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญของการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธครั้งแรกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลนั้น ได้ปักหมุดหมายลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ณ บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (เวลานั้น) โดยสงครามประชาชนเริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่มีแนวร่วมสำคัญจากชนบทโดยเฉพาะชาวนา ได้ลุกลามไปทั่วทั้งอีสาน นับตั้งแต่ยอดภูพานถึงที่ราบนาดอน จากอีสานเหนือถึงอีสานใต้ จรดอีสานตะวันตก อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2510-2520 นับได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการรบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคอีสานมีความชัดเจนเปิดเผย และดุเดือดกว่าภาคอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นเขตการเคลื่อนไหวที่มีมวลชนเป็นแนวร่วมค่อนข้างมาก มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ต่อมาสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศแกนนำอุดมการณ์ทางการเมืองคอมมิวนิสต์ คือ โซเวียตและจีน รวมทั้งการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์การเมืองโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และประเทศไทยกับจีน ประกอบกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลไทยในเวลานั้นที่เน้นการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งนายกรัฐมน ตรีที่ 66/2523 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตป่าได้คืนกลับสู่เมืองเพื่อร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งมีผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐได้คลี่คลายและสงบลง เช่นเดียวกับสมรภูมิ “หลุบอีเลิด” ที่ได้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลง และค่อยคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งลงตามลำดับ
“เทือกเขาภูพาน” ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร สภาพภูมิศาสตร์ทั่วไปเป็นที่ราบ สูงสลับกับเทือกเขาหินทราย รายล้อมด้วยภูเขาสูงชัน มีป่าเบญจ พรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ส่วน “หลุบอีเลิด” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติภูผายล ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานดูแล ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และบางส่วนของตำบลดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
การสำรวจพื้นที่เส้นทางของทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยนครพนม ใช้การเดินเท้าจากพื้นที่เชิงเขาริมอ่างเก็บน้ำห้วยวังแปว (ติดสำนัก สงฆ์) บ้านจอมศรี ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เดินลัดเลาะขึ้นไปตามป่าสลับกับโขดหินขนาดใหญ่ โดยระหว่างทางจะมีจุดสำคัญเชิงประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ถ้ำพวง หินโจมแปะ ถ้ำผีหลอก รอยเมย หลุบอีเลิด หมุดทางทหาร ถ้ำไฮ ถ้ำทอง ถ้ำร้อยเตียง และจุดชมวิวที่สูงที่สุดบนเทือกเขาภูพาน คือ ลานหินแตก มีลักษณะคล้ายหินที่แตกแยกจากกันหลายจุด และเป็นจุดชมวิว 360 องศา สามารถชมพระอาทิตย์ ขึ้น-ลง ได้อย่างสวยงาม ซึ่งพื้นที่โดยรอบของลานหินแตกสามารถใช้เป็นจุดกางเต็นท์ หรือผูกเปลนอนพักแรมในยามค่ำคืนได้ หากเป็นช่วงหน้าหนาวอากาศจะหนาวเย็นมาก เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายเดินป่าอย่างแท้จริง เพราะระยะทางจากเนินเขาข้างล่างขึ้นไปยัง “ลานหินแตก” รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร
การใช้ชีวิตของทริปเดินป่าต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน (ตามเส้นทางที่เลือกเข้าชม) ส่วนการเตรียมตัวควรมีการวอร์มร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากทางเดินค่อนข้างสูงและชัน สำหรับอาหารควรเป็นอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำคัญที่สุดคือน้ำดื่มที่แต่ละคนต้องมีติดตัวอย่างน้อยคนละ 3 ขวด (ขวด 1.5 ลิตร).
Discussion about this post