วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2568) ที่ลานขนส่งสินค้า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จันทบุรี นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก พร้อมพบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกกว่า 2,000 คน เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกผลไม้ และมอบนโยบายเร่งด่วนภายใต้แนวทางของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อน “นโยบายผลไม้ปลอดภัย มีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก”

การลงพื้นที่ครั้งนี้ มีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยรองอธิบดี นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง และ นายพงศ์ไท ไทโยธิน ร่วมติดตาม เพื่อกำกับมาตรการควบคุมคุณภาพผลไม้ส่งออก โดยเฉพาะกรณีที่ ทางการจีนตรวจพบสาร Basic Yellow 2 (BY2) ในทุเรียนไทย ส่งผลให้มีการระงับนำเข้าชั่วคราว กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งนำมาตรการ “Set Zero” มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมี โดยกรมวิชาการเกษตรจะเพิ่มความเข้มงวดในการ ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก 100% ครอบคลุมการตรวจสารแคดเมียม หนอนในทุเรียน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย หากพบการปนเปื้อนจะดำเนินการตามบทลงโทษทันที นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯ นำมาตรการ Big Cleaning มาใช้กับโรงคัดบรรจุในภาคใต้ เช่น ชุมพร และนครศรีธรรมราช เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารต้องห้าม ได้มีการขยายแนวทางนี้มายัง ภาคตะวันออก โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 กรมฯ ได้ออกประกาศ มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไปทุเรียนที่จะส่งออกต้องผ่าน การตรวจสอบเข้มงวด โดยต้อง ไม่มีสี และไม่มีสารต้องห้าม โรงคัดบรรจุต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ใบรายงานผลการทดสอบ Basic Yellow 2 (Test Report) และค่ามาตรฐาน แคดเมียมในเนื้อทุเรียนต้องไม่เกิน 0.05 มก./กก. เพื่อให้สามารถออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) สำหรับแสดงที่ด่านนำเข้าของจีน มาตรการ 4 ไม่ – คุมเข้มทุเรียนไทยก่อนเปิดฤดูกาล เพื่อรักษาตลาดส่งออกทุเรียนไทยที่มีมูลค่ากว่า แสนล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้ ผู้ประกอบการส่งออกปฏิบัติตามมาตรการ 4 ไม่ ได้แก่
- ไม่อ่อน – ควบคุมคุณภาพทุเรียนให้มีความสุกเหมาะสมก่อนการส่งออก
- ไม่หนอน – ป้องกันปัญหาการปนเปื้อนของศัตรูพืช
- ไม่มีสวมสิทธิ์ – ห้ามใช้ทุเรียนจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้รับอนุญาต
- ไม่สี ไม่มีสารเคมีต้องห้าม – ป้องกันการใช้สารแต่งสีและสารต้องห้าม
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือ เกษตรกร ให้ส่งตัวอย่างทุเรียน ตรวจสารแคดเมียมและเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนการเก็บเกี่ยว และให้ โรงคัดบรรจุ ส่งทุเรียน ตรวจสาร BY2 ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตรและ GACC 6 แห่ง ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จันทบุรีเป็นแหล่งผลิตและส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผลผลิตปีละไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีโรงคัดบรรจุและผู้ส่งออกกว่า 800 โรง จังหวัดจันทบุรีจึงให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมคุณภาพผลไม้ เพื่อรักษามาตรฐานส่งออก โดยริเริ่ม “จันทบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นแนวทางความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อ ควบคุมและยกระดับคุณภาพผลไม้ไทย ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก การลงพื้นที่ของ รมช.อิทธิ และคณะครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการ ยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทยให้ปลอดภัย และคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของตลาดส่งออกหลักอย่าง จีน ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง
ภาพ/ข่าว เอกลักษณ์ อานาภรณ์ ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
Discussion about this post